วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม



พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระนามเดิมว่า พระอินทราชา เป็นพระราชโอรสในพระเอกาทศรถ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเอกาทศรถจะเสด็จสวรรคต พระอินทราชาได้เสด็จออกผนวชอยู่จนถึงรัชสมัยพระศรีเสาวภาคย์ เมื่อพระศรีเสาวภาคย์เสด็จสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์และบรรดาเจ้านายขุนนาง ได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระอินทราชาให้ทรงลาผนวช และขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม หรือพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระศรีศิลป์ ผู้เป็นพระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระองค์ไม่นิยมการศึกสงคราม ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระเอกาทศรถ ในด้านการปกครองบ้านเมือง ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร กับพระอาทิตยวงศ์

พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้า ฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรี จึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน

พระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ.๒๑๑๕ พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

เนื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตก

ในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ.๒๑๖๕ ต่อมากัมพูชา และเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นประเทศราช ของไทยมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ ต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัย เป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราช จนกว่าจะได้ครองราชย์

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๑๗ ปี

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

เดิมรับราชการในราชสำนักสมเด็จพระเอกาทศรถ ในตำแหน่งมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นที่หมื่นศรีสรรักษ์ ได้ร่วมกับพระศรีศิลป์ สำเร็จโทษพระศรีเสาวภาคย์ แล้วเชิญพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอำมาตย์ และออกญาศรีวรวงศ์ ตามลำดับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่พวกญี่ปุ่น นำกำลังเข้ามาจะควบคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระยาศรีวรวงศ์ก็สามารถปราบปรามลงได้ จึงได้รับความดีความชอบ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้ดูแลรักษาพระเชษฐาธิราช ผู้เป็นพระราชโอรสที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา

ในรัชสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระยาศรีวรวงศ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ มีอำนาจและอิทธิพลมาก ทำให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช เกิดความระแวงและคิดกำจัด แต่เจ้าพระยากลาโหม ฯ รู้ตัวก่อนและควบคุมพระองค์สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้ แล้วอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๒ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ แล้วทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ปราสาททอง พระองค์มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวมเจ็ดพระองค์

พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทำให้เขมรกลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม

ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ หัวเมืองประเทศราชทางใต้ คิดกบฏยกทัพไปตีเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง พระองค์ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แต่ในขณะเดียวกันก็เสียเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาแก่พม่า

ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญ เช่น พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ และพระธรรมนูญ

ในปีจุลศักราช ๑๐๐๐ ตรงกับปีขาล (พ.ศ.๒๑๘๑) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นกลียุค พระองค์จึงทรงให้จัดพิธีลบศักราช เปลี่ยนจากปีขาลเป็นปีกุน แล้วแจ้งให้หัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งเมืองประเทศราช ให้ใช้ปีศักราชตามที่ทางกรุงศรีอยุธยากำหนดขึ้นมาใหม่

ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พร้อมทั้งหมู่พระราชนิเวศ และวัดชุมพลนิกายาราม ขึ้นที่บางปะอิน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ สำหรับไว้เป็นที่แปรพระราชฐาน

พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสถาปนาวัดสำคัญ ๆ หลายวัด เช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดชุมพลนิกายาราม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดมหาธาตุ และโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ ครองราชย์ได้ ๒๗ ปี

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระราชประวัติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระราชประวัติ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระบาทสมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๗๔ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่แปดของกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๑ ทรงมีพระราชสมัญญาอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจาก เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๑๔ พระองค์ได้ทรงรับช้างเผือก ซี่งนับเป็นช้างเผือกเชือกแรกของกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชสมภพที่อยุธยา แต่เติบโตและมีชีวิตในวัยเยาว์ที่พิษณุโลก โดยเป็นพระโอรสในเจ้าสามพระยา มีพระราชมารดาเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง พระนามมีความหมายถึง " พระพุทธเจ้า " หรือ " พระอิศวร " มีผู้ที่เข้าใจว่าคงเป็นพระสหายมาตั้งแต่วัยเยาว์ชื่อ " ยุทธิษฐิระ " ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นผู้ชักนำศึกเข้ามา หลังการขึ้นครองราชย์แล้ว ก็เสด็จมาประทับที่อยุธยาในช่วงแรกของการครองราชย์ อีกครึ่งหนึ่งเสด็จมาประทับที่พิษณุโลก เชื่อว่าคงเป็นไปเพื่อการควบคุมดูแลหัวเมืองทางด้านเหนือ และคานอำนาจของอาณาจักรทางเหนือ คือ อาณาจักรล้านนา ซึ่งกำลังมีความเข้มแข็งและต้องการแผ่อำนาจลงมาทางใต้
พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง โดยทรงรวมอำนาจจากการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานี และแยกฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนออกจากกันคือ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหมเป็นหัวหน้า รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายก เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ มีผู้ช่วยคือ จตุสดมภ์ ได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา ในกรณีที่เกิดศึกสงครามทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนจะต้องนำหน้าในกองทัพร่วมกัน
การปกครองในส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แต่เดิมที่แบ่งออกเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง แล้วระบบการปกครองหัวเมืองเสียใหม่ ดังนี้
-หัวเมืองชั้นใน เช่น เมืองราชบุรี นครสวรรค์ นครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น จัดเป็นเมืองจัตวา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมไปปกครอง แต่สิทธิอำนาจทั้งหมดยังขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์
-หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เช่น เมืองพิษณุโลก สุโขทัย นครราชสีมา และทวาย จัดเป็น เมือง เอก โท ตรี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเป็นสิทธิขาด เป็๋นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ มีกรมการปกครองในตำแหน่ง เวียง วัง คลัง นา เช่นเดียวกับของทางราชธานี
-เมืองประเทศราช ทางกรุงศรีอยุธยาคงให้เจ้าเมืองของเมืองหลวงนั้นปกครองกันเอง โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเจ้าเมือง เมืองประเทศราชจะต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองกับเครื่องราชบรรณาการทุกรอบสามปี และต้องส่งกองทัพมาช่วยทางราชธานี เมื่อเกิดการสงคราม
สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล ตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้า แขวง มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้า การปกครองท้องถิ่นดังกล่าวได้ใช้สืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีการกำหนดศักดินาเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ และได้อาศัยใช้เป็นเกณฑ์กำหนดการมีที่นาและการปรับไหมตามกฎหมาย
ในปี พ.ศ. ๒๐๐๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาล ขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งออกเป็นสามแผนคือ พระตำรา ว่าด้วยแบบแผนและการพระราชพิธีต่าง ๆ พระธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ พระราชกำหนด เป็นข้อบังคับในพระราชสำนัก
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย นอกจากนี้ยังมีลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิตของไทย
เสด็จสวรรคต
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๑ เมื่อพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ทรงครองราชย์ได้ ๔๐ ปี ยาวนานที่สุดของอาณาจักรอยุธยา และเป็นลำดับ ๓ ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ ๒๐ ปี ที่เหลือทรงประทับที่เมืองพิษณุโลกตลอดรัชกาล



พระราชประวัติ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

พระราชประวัติ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง องค์นี้ เป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัย หรือ ศรีวิชัย สมภพ เมื่อ (จากหมายเหตุโหร) วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 จ.ศ. 676 พ.ศ.1857 (ตรงกับวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.1856)เวลารุ่งเช้า ปลายรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย

เรื่องราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองนั้น มีความสันนิษฐานสรุปไว้เบื้องต้นว่า พระเจ้าไชยศิริ กษัตริย์จากแคว้นโยนกเชียงแสน ซึ่งครองเมืองชัยปราการ (เมืองฝาง) นั้นได้พาครอบครัวและเชื้อพระวงศ์ทิ้งเมืองอพยพหนี เนื่องจากพวกมอญได้ยกทัพมาตีและเข้าเผาทำลายบ้านเมืองจนร้าง บรรดาไพร่พลและเชื้อพระวงศ์ที่อพยพลงมาทางตอนใต้นั้น ได้พากันแยกย้ายไปตั้งเมืองของตนอยู่ในแคว้นต่าง ๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ กล่าวคือ ขณะนั้นได้มีคนไทยชาวอพยพ พากันลงมาทำมาหากิน อยู่ตามเมืองต่าง ๆ มากแล้ว เมืองที่คนไทยมาอาศัยอยู่นั้นมีเมืองใหญ่ 2 แห่ง คือ เมืองอโยธยา ในแคว้นละโว้ และเมืองอู่ทอง ในแคว้นสุวรรณภูมิ ต่อมาพวกขอมได้ขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยอาณาจักรทวาราวดี จึงตั้งศูนย์กลางดูแลอยู่ที่ เมืองละโว้ จึงทำให้บรรดาคนไทยที่อยู่ในเมืองอโยธยา เมืองละโว้ ดังกล่าวนั้นอยู่ในความดูแลของพวกขอม ที่ครองเมืองละโว้ไปด้วย

ครั้นเมื่อคนไทยทางตอนเหนือนำโดยพ่อขุนบางกลาวหาว และขุนผาเมือง ได้ร่วมกันทำการขับไล่อำนาจขอม จากขอมสบาดโขลญลำพง และทำการตั้งเมืองสุโขทัยประกาศตนเป็นแคว้นอิสระ เมื่อ พ.ศ. 1800 นั้น เมืองสุโขทัยได้จัดตั้งแคว้นต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจของขอมใหม่ เป็นเมืองพระยามหานคร คือเป็นเมืองที่มีเจ้าครองเมือง

เมืองพระยามหานคร ในดินแดนทางตอนใต้นั้น คือ แคว้นอโยธยา มีเมืองแพรกหรือเมืองสรรค์(เมืองตรัยตรึงส์) เป็นราชธานี (เดิมนั้นเมืองอโยธยาขึ้นกับเมืองละโว้) และแคว้นสุวรรณภูมิ มีเมืองอู่ทอง เป็นราชธานี

เจ้าผู้ครองแคว้นดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ที่อพยพลงมาพร้อมกับพระเจ้าไชยศิริ โดยพระเจ้าไชยศิรินั้นได้อพยพมาตั้งอยู่ที่เมืองแปบ ซึ่งเป็นเมืองร้าง (เมืองร้างนี้ น่าจะเป็นเมืองนครปฐมโบราณมากกว่าเมืองเก่าทางเมืองกำแพงเพชร) อยู่ในแคว้นสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองอู่ทอง ที่เป็นราชธานี

ต่อมานั้น พระเจ้าไชยศิริได้ทำการขยายอาณาเขตไปทางตอนใต้ จนได้ปกครองแคว้น ศิริธรรมราชครั้งนั้น พระเจ้าไชยศิริได้ตั้งเมืองนครศิริธรรมราช (นครศรีธรรมราช) ขึ้นเป็นราชธานีปกครองแคว้นดังกล่าว โดยมีกษัตริย์ครองแคว้นศิริธรรมราชต่อมาหลายรัชกาล จนถึง พระเจ้าศิริธรรมราชผู้เป็นพระอัยการของพระเจ้าอู่ทอง

พระเจ้าศิริธรรมราช นั้น มีพระโอรสชื่อ พระเจ้าศิริชัย (หรือศรีวิชัย) ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1856 นั้น พระเจ้าศิริชัยองค์นี้ได้อภิเษกกับพระธิดาองค์เดียวของ พระยาตรัยตรึงส์ กษัตริย์ครองแคว้นอโยธยา (มีราชธานีอยู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ คือ เมืองตรัยตรึงส์ และเมืองอโยธยา เป็นเมืองท่า) ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับอาณาจักรละโว้ของขอม ต่อมาพระเจ้าชัยศิริเชียงแสนนั้นมีพระโอรสระยะแรกไม่ปรากฏ ภายหลังเรียก พระเจ้าอู่ทอง (หลังจากที่อภิเษกและไปอยู่เมืองอู่ทอง แคว้นสุวรรณภูมิ)

ดังนั้น พระเจ้าอู่ทอง จึงเป็นนามมงคลที่เกิดขึ้นในธรรมเนียมของ แคว้นสุวรรณภูมิ และพระเจ้าอู่ทององค์นี้เป็นทายาทที่สืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าไชยศิริ กษัตริย์ราชวงศ์ชัยปรากการ (เชียงราย) มาจนถึง พระเจ้าศิริชัยหรือศรีวิชัย

พระเจ้าศิริชัย องค์นี้ครองอยู่แคว้นศิริธรรมราช ทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ครั้นเมื่อพระยาตรัยตรึงส์ กษัตริย์แคว้นอโยธยา ผู้เป็นพระบิดาของพระมเหสีนั้นได้สิ้นพระชนม์ ลง พระเจ้าศิริชัยเชียงแสนจึงได้ครองแคว้นอโยธยาด้วย

เมื่อพระเจ้าอู่ทอง มีพระชนม์ 19 พรรษา (ราว พ.ศ.1876) นั้น พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน พระบิดาจึงได้สู่ขอพระธิดาของพระยาอู่ทอง แคว้นสุวรรณภูมิ มาอภิเษกสมรส และพระเจ้าชัยศิริเชียงแสน ยอมให้พระเจ้าอู่ทองไปอยู่ช่วยราชการที่เมืองอู่ทองนั้น น่าจะมีเหตุให้ช่วยดูแล แคว้นอโยธยาด้วย ด้วยเหตุที่พระเจ้าอู่ทองนั้นได้ช่วยเหลือราชการบ้านเมืองและไว้วางใจในความสามารถ ทำให้พระยาอู่ทอง ไว้วางใจยิ่ง ส่วนขุนหลวงพะงั่ว พระโอรสของพระยาอู่ทอง และพระเชษฐาของพระมเหสีของพระเจ้าอู่ทองนั้น น่าจะครองเมืองสรรค์บุรีอยู่

ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมิ่ง เจ้าเมืองมอญได้ยกทัพมาตีเอาเมืองทะวาย เมืองตะนาวศรี ครั้งนั้น พระเจ้าอู่ทองจึงได้แสดงความสามารถนำทัพไปตีเอาเมืองทวาย กับเมืองตะนาวศรี กลับคืนมาได้ ทำให้ได้รับการยกย่องรักใคร่ของอาณาประชาราษฎร์ ครั้นเมื่อพระยาอู่ทอง กษัตริย์แคว้นสุวรรรภูมิสิ้นพระชนม์ลงราษฎร์จึงพากันยกให้พระเจ้าอู่ทอง ขณะนั้นมีพระชนม์พรรษา 30 ปี ครองแคว้นสุวรรณภูมิต่อมา (ทำไมขุนหลวงพระงั่ว ไม่ได้ครองเมืองสุวรรณภูมิ)

ครั้นเมื่อพระเจ้าชัยสิริเชียงแสน พระบิดาสิ้นพระชนม์ลงอีก พระเจ้าอู่ทอง พระโอรสจึงได้ครองแคว้นศิริธรรมราชและแคว้นอโยธยา ในที่สุด และรวมทั้งแคว้นสุวรรณภูมิ ด้วย (ภายหลังโปรดให้ ขุนหลวงพะงั่ว ครองเมืองสุพรรณบุรี) ถือว่าเป็นการรวบรวมอาณาจักรทั้งสามแคว้นขึ้นเป็นอาณาจักร โดยใช้เมืองอู่ทอง เป็นราชธานี ตามเดิม ซึ่งมีความหมายว่า สุวรรณภูมิ โดยมีแม่นำสายใหญ่ คือ แม่น้ำท่าจีนเป็นทางออกสู่ทะเลที่เมืองนครปฐมโบราณ โดยเป็นเมืองท่าหรือศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บริเวณเมืองอู่ทองหรือแคว้นสุวรรณภูมิ จึงเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของแคว้นสุพรรณภูมิ ที่มีพ่อค้าชาวจีนเดินทางไปมาค้าขายและตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน

พระเจ้าอู่ทองนั้นมีพระโอรสองค์หนึ่ง (ไม่ปรากฏชื่อในตอนแรก ภายหลังได้ เป็นพระราเมศวร ตำแหน่งพระอุปราชต่อมา พระเจ้าอู่ทองนั้น ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองอู่ทอง (บ้างอ้างว่ากันดารน้ำและเกิดโรคระบาด) มาตั้งอยู่ที่ตำบล เวียงเหล็ก พออยู่ได้ 3 ปี ใน พ.ศ.1893 จึงย้ายสถานที่ข้ามแม่น้ำ เจ้าพระยาไปทำการสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นที่ตำบลหนองโสน

ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้ระบุว่า เมื่อ พ.ศ.1893 นั้น ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ (อาจจะเป็นอหิวาตกโรคหรือ กาฬโรค เพราะระหว่างปี พ.ศ.1878 – 1893 (ค.ศ.1335 – 1350 ) ได้เกิดกาฬโรคโคจรจากเมืองจีน และได้ระบาดไปทั่วโลก) ทำให้ต้องมีการย้ายเมืองจากด้านตะวันออกมาสร้างใหม่ที่หนองโสน ส่วนเหตุที่ทำให้พระเจ้าอู่ทองย้ายเมืองจากตำบลเวียงเหล็ก มาสร้างกรุงศรีอยุธยา นั้นมีข้อสันนิษฐานว่า พระเจ้าอู่ทองนั้นได้ครองเมืองเทพนคร (เมืองอโยธยา) อยู่ 6 ปีด้วย

ส่วนเรื่องที่รับรู้กันมาว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองครองเมืองอู่ทอง พ.ศ. 1889 นั้น พอครองเมืองได้ 1 ปี (พ.ศ.1890) ก็เกิดภาวะธรรมชาติกล่าวคือ ลำน้ำจระเข้สามพันที่ผ่านเมืองอู่ทอง นั้นได้เกิดตื้นเขิน และเปลี่ยนทางน้ำ จนกันดารน้ำต้องขุดบ่อ สระขังน้ำไว้ใช้ในไม่ช้าก็เกิดโรคระบาดดังกล่าวขึ้น (ซึงมาทางเรือสินค้าจากจีน) โดยเข้ามาตามแม่น้ำท่าจีน) พระเจ้าอู่ทอง จึงอพยพย้ายผู้คนมาตั้งเมืองอยู่บริเวณแคว้นอโยธยา คือ ตำบลเวียงเหล็ก เมื่อ พ.ศ.1890 และเมืองอู่ทองนั้น คงไม่ถูกทิ้งร้างยังมีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นข้อสันนิษฐานเดิมที่เชื่อกันเช่นนี้

ดังนั้น เรื่อง การย้ายเมืองของพระเจ้าอู่ทอง จึงมีข้อศึกษาใหม่ว่า พระเจ้าอู่ทองนั้น น่าจะดำริถึง อาณาจักรใหม่ที่พระองค์ได้รรับสิทธิปกครองดูแลนั้น คือ แคว้นสุวรรณภูมิ (ของมเหสี) แคว้นอโยธยา (ของมารดา) แคว้นศิริธรรมราช (ของบิดา) ซึ่งแต่ละแคว้นนั้นต่างมีเมืองสำคัญ ตั้งอยู่ห่างไกลกันมาก หากจะให้เมืองอู่ทองเป็นราชธานีของแคว้นทั้งหมด ก็มีทำเลไม่เหมาะสม ด้วยเหตุที่เมืองอู่ทองนั้น ไม่เป็นศูนย์กลางที่จะดูแลแคว้นนั้นได้สะดวก และมีแม่น้ำใหญ่เพียงสายเดียว ทำให้ขัดข้องในการติดต่อกับแคว้นอื่น ๆ ได้

พระองค์จึงได้ทำการอพยพ ผู้คนสำรวจสถานที่สร้างเมืองใหม่ขึ้น เพื่อหาทำเลที่จะตั้งเมือง ให้เป็นศูนย์กลางอาณาจักรที่สามารถปกครองดูแลหรือติดต่อถึงกันได้โดยสะดวกขึ้น โดยเฉพาะทำเลที่มีแม่น้ำหลายสาย ไหลผ่านและใช้เป็นเส้นทางที่จะติดต่อไปยังเมืองใหญ่ของแคว้นทั้งหมดได้ คือ เมืองนครศิริธรรมราช(เมืองนครศรีธรรมราช) เมืองอู่ทอง (ภายหลังย้ายมาสร้างเมืองสุพรรณบุรี) เมืองสรรค์บุรี (เมืองแพรก ) เมืองชัยนาท เมืองอโยธยา เมืองละโว้ เมืองนครปฐมโบราณ (เมืองนครไชยศรี) เป็นต้น

ประกอบกับเมืองอโยธยาเดิมนั้น มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรีไหลผ่านและเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อยู่แล้ว ในครั้งแรกนั้นพระเจ้าอู่ทองได้กลับมาครองแคว้นอโยธยาอยู่ 6 ปี ก็เห็นว่าที่ตำบลเวียงเหล็ก นั้นน่าจะเป็นทำเลสร้างเมืองใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองทั้ง 3 แคว้น นั้นได้ จึงอพยพไปตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็กก่อน (ส่วนเมืองอโยธยานั้นได้ให้เจ้าแก้วเจ้าไทย ครอง) ครั้นอยู่ที่ตำบลเวียงเหล็ก 3 ปี จึงเห็นว่าบริเวณตำบลหนองโสนนั้น มีทำเลเหมาะสมกว่าและเป็นพื้นที่มีลักษณะเหมือนสังขทักษิณาวรรตที่มีแม่น้ำ 3 สายไหลออกดุจน้ำไหลออกจากสังข์ และเป็นแม่น้ำที่ใช้ เป็นเส้นทางติดต่อได้ สะดวกกว่าที่เดิม (เมืองอโยธยา) ประจวบกับเวลานั้นเกิดโรคอหิวาระบาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้เจ้าแก้วเจ้าไทยสิ้นพระชนม์ (จนเมืองอโยธยาร้างผู้คน) พระองค์จึงตัดสินพระทัยอพยพมาสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลหนองโสน

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระราชประวัติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชประวัติ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนามเดิมว่า "พระองค์ดำ" พระราชสมภพเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2098 ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา (สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์)และพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระธิดาในพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย) ทรงมีพระพี่นางทรงพระนามว่า พระสุพรรณเทวี (พระสุพรรณกัลยา) และพระอนุชาทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)

ต่อมา พระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ได้รับชัยชนะ และก่อนจะเลิกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงขอ "พระองค์ดำ" เป็นราชบุตรบุญธรรม ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 9 พรรษาให้ตามเสด็จไปอยู่ ณ กรุงหงสาวดี ประเทศพม่า เพื่อเป็นองค์ประกัน พ.ศ.2114 เมื่อทรงพระชนมายุได้ 16 พรรษา ฝ่ายพระได้สถาปนาพระมหาธรรมราชา ขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองประเทศราช สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงทรงขอ "พระองค์ดำ" พระราชโอรสกลับมาช่วยงานภารกิจบ้านเมือง ในฐานะอุปราช โดยให้ครองเมืองพิษณุโลก และได้ถวาย "พระสุพรรณกัลยา" พระราชธิดาพระองค์ใหญ่เป็นองค์ประกันแทน

ปี พ.ศ. 2117 หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองเมืองพิษณุโลกได้ไม่นาน พระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งให้เกณฑ์ทัพกรุงศรีอยุธยาให้ยกไปช่วยปราบปรามเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยสมเด็จพระนเรศวรได้ตามเสด็จพระราชบิดาในราชการทัพครั้งนั้นด้วย และโปรดให้สร้างวังหน้าหรือ "วังจันทน์เกษม" ในปัจจุบันเพื่อใช้เป็นที่ประทับและอำนวยการทำศึกสงคราม ในปี พ.ศ. 2120

ปี พ.ศ. 2123 สมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยพระเอกาทศรถ นำไพล่พล 3,000 ไปสมทบกับทัพเมืองชัยบาดาลและเมืองศรีเทพ เพื่อนำทัพเข้าโอบล้อมโจมตีกองทัพเขมรจนแตกพ่าย ครั้นถึง ปี พ.ศ. 2124 พระเจ้าหงสาวดีเสด็จสวรรคต พระมหาอุปราชนันทบุเรง เสด็จขึ้นครองราชย์แทนในครั้งนั้นมีเหตุเจ้าฟ้าไทยใหญ่แห่งเมืองคัง คิดตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ยอมขึ้นต่อกรุงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง จึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรคุมกองทัพไทย พระมหาอุปราชคุมกองทัพพม่า และพระสังกทัตคุมกองทัพมอญไปปราบปราม ครั้นถึงกำหนดวันที่สมเด็จพระนเรศวรนำกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเมืองคัง ทหารฝ่ายไทยก็สามารถจับกุมเจ้าฟ้าเมืองคังได้ทันท่วงที ทำให้พระมหาอุปราชและพระสังกทัตได้รับความละอาย ต้องยอมรับความปราชัยการประชันพระปรีชาสามารถทางการศึกสงครามไม่รู้ลืม

ปี พ.ศ. 2126 สมเด็จพระมหาธรรมราชา โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนเรศวรคุมทัพไปช่วยทัพของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ซึ่งยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่ทัพไทยยกไปไม่ทันตามกำหนด เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงเกิดความระแวง จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาหาทางกำจัดสมเด็จพระนเรศวร เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงเมืองแครง พระองค์ได้ทรงทราบแผนของพระมหาอุปราชา ที่ให้พระยาเกียรติ พระยาราม หาทางกำจัดพระองค์จากพระมหาเถรคันฉ่อง พระองค์จึงโปรดฯ ให้แม่ทัพนายกองมาประชุมและนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมด้วยคณะสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินประกาศอิสระภาพ ไม่ยอมขึ้นต่อกรุงหงสาวดี ณ เมืองแครง ในวันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2127 เวลาประมาณ 19.00 น.และได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2133 ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา พร้อมกับทรงสถาปนา พระเอกาทศรถ เป็น "พระมหาอุปราช" และให้ถือพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดิน

ปี พ.ศ. 2138 ตีกรุงหงสาวดีครั้งที่ 1 ปราบกบฏเมืองตะนาวศรี เกลี้ยกล่อม พระยาพะโร แห่งเมาะลำเลิงให้แข็งเมือง เพื่อตีเมาะตะมะให้สำเร็จพม่าหนีไปอยู่หงสาวดี มอญและไทยร่วมมือกันตีกองทัพพระเจ้าตองอูพ่ายไป หัวเมืองมอญสวามิภักดิ์ต่อไทย ล้อมกรุงหงสาวดีอยู่ 3 เดือน ทราบข่าวว่ามีกองทัพตองอู อังวะ และแปรมาช่วยจึงถอยทัพ แต่การศึกครั้งนี้ทำให้ความเป็นราชาธิราชของพม่าล่มสลาย ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ สามารถแผ่อาณาจักรได้ถึงประเทศจีน

เมื่อ พ.ศ. 2142 ตีกรุงหงสาวดีครั้งที่ 2 โปรดให้เจ้าพระยาจักรียึดเมาะลำเลิง และเกณฑ์คนให้ทำนาเพื่อสะสมเสบียง เกณฑ์ทวายให้ต่อเรือรบ เกลี้ยกล่อมมอญให้เข้าร่วมด้วย เมืองยะไข่และเมืองตองอูยินยอมจะยกทัพมาสมทบ แต่พระมหาเถรเสียมเพรียมยุยงพระเจ้าตองอูและยะไข่ให้ทรยศต่อไทย ยุมอญให้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถต้องเสียเวลาปราบปรามมอญ ทำให้กองทัพตองอูและยะไข่ยกไปถึงหงสาวดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทะบุเรงทราบว่ากองทัพอยุธยาสามารถปราบมอญได้ราบคาบ และยกทัพถึงเมืองเมาะตะมะแล้วจึงรีบเปิดประตูเมืองรับพระเจ้าตองอู รีบเก็บทรัพย์สมบัติแล้วเผาพระราชวังหลบหนีไปเมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถเสียเวลาในการเดินทางไปเมืองตองอู ซึ่งการเดินทางเต็มไปด้วยความลำบาก พื้นที่เป็นภูเขาสูงและต้องระมัดระวังการลอบโจมตีของกองทัพตองอูและยะไข่ เมื่อถึงตองอูซึ่งเป็นเมืองป้อมปราการแข็งแกร่ง มีคูเมืองกว้างและลึกมาก ในระหว่างล้อมเมืองต้องให้ขุดคูไขน้ำลงแม่น้ำสะโตง ทุกวันนี้ยังเรียกว่า เมืองอโยธยา จนถึงฤดูฝนและเสบียงอาหารที่เตรียมมาเพื่อตีกรุงหงสาวดีก็ร่อยหรอลง จึงต้องเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา กรุงหงสาวดีที่เคยแข็งแกร่งต้องเหลือเพียงเถ้าถ่าน พระสังกทัต (นัดจิงหน่อง) พระราชบุตรพระเจ้าตองอูดำริว่าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เป็นตัวสาเหตุทำให้ตองอูเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ จะต้องยกทัพมาย่ำยีตองอูอย่างแน่นอน อีกทั้งเมืองทั้งหลายได้แตกแยกกัน เนื่องจากพระเจ้าหงสาวดีเป็นต้นเหตุ พระสังกทัตจึงลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษเสีย เมื่อเดือน 11 แรม 10 ค่ำ พ.ศ. 2143 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็สิ้นพระชนม์ขณะที่ประทับอยู่ที่เมืองตองอูได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น
ปี พ.ศ. 2147 สงครามครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรฯ โปรดให้สะสมเสบียงอาหารและปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็ง ด้วยหมายจะปราบพม่าให้ราบคาบ จึงใช้เวลาถึง 3 ปีเศษ รับสั่งให้เดินทัพไปเมืองเชียงใหม่และให้แยกเป็นสองทัพ โดยทัพพระเอกาทศรถให้ยกออกไปทางเมืองฝาง ส่วนทัพสมเด็จพระนเรศวรยกไปทางเมืองหางหรือห้างหลวง ที่ตำบลทุ่งแก้ว ริมแม่น้ำสาละวิน และได้เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (บ้างว่าถูกแมลงพิษต่อย) ที่พระพักตร์ แล้วเลยเป็นบาดทะยัก จนพระอาการหนักจึงตรัสสั่งให้พระเอกาทศรถเข้าเฝ้า ทรงได้พยาบาลพระเชษฐาธิราชได้ 3 วัน
สมเด็จพระนเรศวร ก็เสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2148 ซึ่งมีพระชันษาเพียง 50 พรรษา เสวยราชสมบัติได้ 15 ปี

http://www.google.com/