วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม



พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระนามเดิมว่า พระอินทราชา เป็นพระราชโอรสในพระเอกาทศรถ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเอกาทศรถจะเสด็จสวรรคต พระอินทราชาได้เสด็จออกผนวชอยู่จนถึงรัชสมัยพระศรีเสาวภาคย์ เมื่อพระศรีเสาวภาคย์เสด็จสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์และบรรดาเจ้านายขุนนาง ได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระอินทราชาให้ทรงลาผนวช และขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม หรือพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระศรีศิลป์ ผู้เป็นพระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระองค์ไม่นิยมการศึกสงคราม ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระเอกาทศรถ ในด้านการปกครองบ้านเมือง ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร กับพระอาทิตยวงศ์

พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้า ฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรี จึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน

พระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ.๒๑๑๕ พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

เนื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตก

ในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ.๒๑๖๕ ต่อมากัมพูชา และเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นประเทศราช ของไทยมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ ต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัย เป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราช จนกว่าจะได้ครองราชย์

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๑๗ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น