วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระราชประวัติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชประวัติ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนามเดิมว่า "พระองค์ดำ" พระราชสมภพเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2098 ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา (สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์)และพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระธิดาในพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย) ทรงมีพระพี่นางทรงพระนามว่า พระสุพรรณเทวี (พระสุพรรณกัลยา) และพระอนุชาทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)

ต่อมา พระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ได้รับชัยชนะ และก่อนจะเลิกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงขอ "พระองค์ดำ" เป็นราชบุตรบุญธรรม ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 9 พรรษาให้ตามเสด็จไปอยู่ ณ กรุงหงสาวดี ประเทศพม่า เพื่อเป็นองค์ประกัน พ.ศ.2114 เมื่อทรงพระชนมายุได้ 16 พรรษา ฝ่ายพระได้สถาปนาพระมหาธรรมราชา ขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองประเทศราช สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงทรงขอ "พระองค์ดำ" พระราชโอรสกลับมาช่วยงานภารกิจบ้านเมือง ในฐานะอุปราช โดยให้ครองเมืองพิษณุโลก และได้ถวาย "พระสุพรรณกัลยา" พระราชธิดาพระองค์ใหญ่เป็นองค์ประกันแทน

ปี พ.ศ. 2117 หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองเมืองพิษณุโลกได้ไม่นาน พระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งให้เกณฑ์ทัพกรุงศรีอยุธยาให้ยกไปช่วยปราบปรามเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยสมเด็จพระนเรศวรได้ตามเสด็จพระราชบิดาในราชการทัพครั้งนั้นด้วย และโปรดให้สร้างวังหน้าหรือ "วังจันทน์เกษม" ในปัจจุบันเพื่อใช้เป็นที่ประทับและอำนวยการทำศึกสงคราม ในปี พ.ศ. 2120

ปี พ.ศ. 2123 สมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยพระเอกาทศรถ นำไพล่พล 3,000 ไปสมทบกับทัพเมืองชัยบาดาลและเมืองศรีเทพ เพื่อนำทัพเข้าโอบล้อมโจมตีกองทัพเขมรจนแตกพ่าย ครั้นถึง ปี พ.ศ. 2124 พระเจ้าหงสาวดีเสด็จสวรรคต พระมหาอุปราชนันทบุเรง เสด็จขึ้นครองราชย์แทนในครั้งนั้นมีเหตุเจ้าฟ้าไทยใหญ่แห่งเมืองคัง คิดตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ยอมขึ้นต่อกรุงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง จึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรคุมกองทัพไทย พระมหาอุปราชคุมกองทัพพม่า และพระสังกทัตคุมกองทัพมอญไปปราบปราม ครั้นถึงกำหนดวันที่สมเด็จพระนเรศวรนำกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเมืองคัง ทหารฝ่ายไทยก็สามารถจับกุมเจ้าฟ้าเมืองคังได้ทันท่วงที ทำให้พระมหาอุปราชและพระสังกทัตได้รับความละอาย ต้องยอมรับความปราชัยการประชันพระปรีชาสามารถทางการศึกสงครามไม่รู้ลืม

ปี พ.ศ. 2126 สมเด็จพระมหาธรรมราชา โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนเรศวรคุมทัพไปช่วยทัพของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ซึ่งยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่ทัพไทยยกไปไม่ทันตามกำหนด เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงเกิดความระแวง จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาหาทางกำจัดสมเด็จพระนเรศวร เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงเมืองแครง พระองค์ได้ทรงทราบแผนของพระมหาอุปราชา ที่ให้พระยาเกียรติ พระยาราม หาทางกำจัดพระองค์จากพระมหาเถรคันฉ่อง พระองค์จึงโปรดฯ ให้แม่ทัพนายกองมาประชุมและนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมด้วยคณะสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินประกาศอิสระภาพ ไม่ยอมขึ้นต่อกรุงหงสาวดี ณ เมืองแครง ในวันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2127 เวลาประมาณ 19.00 น.และได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2133 ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา พร้อมกับทรงสถาปนา พระเอกาทศรถ เป็น "พระมหาอุปราช" และให้ถือพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดิน

ปี พ.ศ. 2138 ตีกรุงหงสาวดีครั้งที่ 1 ปราบกบฏเมืองตะนาวศรี เกลี้ยกล่อม พระยาพะโร แห่งเมาะลำเลิงให้แข็งเมือง เพื่อตีเมาะตะมะให้สำเร็จพม่าหนีไปอยู่หงสาวดี มอญและไทยร่วมมือกันตีกองทัพพระเจ้าตองอูพ่ายไป หัวเมืองมอญสวามิภักดิ์ต่อไทย ล้อมกรุงหงสาวดีอยู่ 3 เดือน ทราบข่าวว่ามีกองทัพตองอู อังวะ และแปรมาช่วยจึงถอยทัพ แต่การศึกครั้งนี้ทำให้ความเป็นราชาธิราชของพม่าล่มสลาย ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ สามารถแผ่อาณาจักรได้ถึงประเทศจีน

เมื่อ พ.ศ. 2142 ตีกรุงหงสาวดีครั้งที่ 2 โปรดให้เจ้าพระยาจักรียึดเมาะลำเลิง และเกณฑ์คนให้ทำนาเพื่อสะสมเสบียง เกณฑ์ทวายให้ต่อเรือรบ เกลี้ยกล่อมมอญให้เข้าร่วมด้วย เมืองยะไข่และเมืองตองอูยินยอมจะยกทัพมาสมทบ แต่พระมหาเถรเสียมเพรียมยุยงพระเจ้าตองอูและยะไข่ให้ทรยศต่อไทย ยุมอญให้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถต้องเสียเวลาปราบปรามมอญ ทำให้กองทัพตองอูและยะไข่ยกไปถึงหงสาวดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทะบุเรงทราบว่ากองทัพอยุธยาสามารถปราบมอญได้ราบคาบ และยกทัพถึงเมืองเมาะตะมะแล้วจึงรีบเปิดประตูเมืองรับพระเจ้าตองอู รีบเก็บทรัพย์สมบัติแล้วเผาพระราชวังหลบหนีไปเมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถเสียเวลาในการเดินทางไปเมืองตองอู ซึ่งการเดินทางเต็มไปด้วยความลำบาก พื้นที่เป็นภูเขาสูงและต้องระมัดระวังการลอบโจมตีของกองทัพตองอูและยะไข่ เมื่อถึงตองอูซึ่งเป็นเมืองป้อมปราการแข็งแกร่ง มีคูเมืองกว้างและลึกมาก ในระหว่างล้อมเมืองต้องให้ขุดคูไขน้ำลงแม่น้ำสะโตง ทุกวันนี้ยังเรียกว่า เมืองอโยธยา จนถึงฤดูฝนและเสบียงอาหารที่เตรียมมาเพื่อตีกรุงหงสาวดีก็ร่อยหรอลง จึงต้องเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา กรุงหงสาวดีที่เคยแข็งแกร่งต้องเหลือเพียงเถ้าถ่าน พระสังกทัต (นัดจิงหน่อง) พระราชบุตรพระเจ้าตองอูดำริว่าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เป็นตัวสาเหตุทำให้ตองอูเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ จะต้องยกทัพมาย่ำยีตองอูอย่างแน่นอน อีกทั้งเมืองทั้งหลายได้แตกแยกกัน เนื่องจากพระเจ้าหงสาวดีเป็นต้นเหตุ พระสังกทัตจึงลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษเสีย เมื่อเดือน 11 แรม 10 ค่ำ พ.ศ. 2143 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็สิ้นพระชนม์ขณะที่ประทับอยู่ที่เมืองตองอูได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น
ปี พ.ศ. 2147 สงครามครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรฯ โปรดให้สะสมเสบียงอาหารและปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็ง ด้วยหมายจะปราบพม่าให้ราบคาบ จึงใช้เวลาถึง 3 ปีเศษ รับสั่งให้เดินทัพไปเมืองเชียงใหม่และให้แยกเป็นสองทัพ โดยทัพพระเอกาทศรถให้ยกออกไปทางเมืองฝาง ส่วนทัพสมเด็จพระนเรศวรยกไปทางเมืองหางหรือห้างหลวง ที่ตำบลทุ่งแก้ว ริมแม่น้ำสาละวิน และได้เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (บ้างว่าถูกแมลงพิษต่อย) ที่พระพักตร์ แล้วเลยเป็นบาดทะยัก จนพระอาการหนักจึงตรัสสั่งให้พระเอกาทศรถเข้าเฝ้า ทรงได้พยาบาลพระเชษฐาธิราชได้ 3 วัน
สมเด็จพระนเรศวร ก็เสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2148 ซึ่งมีพระชันษาเพียง 50 พรรษา เสวยราชสมบัติได้ 15 ปี

http://www.google.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น